หน้าเว็บ




ไร่นาสวนผสม
การเกษตรของไทยในอดีตเป็นการทำการเกษตรเพื่อยังชีพโดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติ จึงไม่ค่อยจะพบปัญหามากนัก แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมีการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอแก่การบริโภคของประชากรและเพื่อการส่งออกเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศจึงทำให้การทำการเกษตรในปัจจุบันประสบปัญหามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดความสมดุลทางธรรมชาติการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชรวมทั้งด้านการตลาดซึ่งนับวันจะแปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆจากปัญหาดังกล่าว การทำ ไร่นาสวนผสมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่จะลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติและความไม่แน่นอนของราคาผลผลิตโดยการทำการเกษตรหลายๆ อย่าง เพื่อเพิ่มระดับรายได้ สามารถหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรในไร่นาได้มากขึ้น สร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติทำให้ระบบนิเวศเกษตรของชุมชนดีขึ้น เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงในการที่จะประกอบอาชีพการเกษตรต่อไปเป็นการทำกิจกรรมการเกษตรหลาย ๆ อย่าง
ตั้งแต่ 2 อย่าง ) เพื่อตอบสนองต่อการบริโภคและลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตและภัยธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมการเกษตรไม่จำเป็นต้องเกื้อกูลกันเช่น การเลี้ยงไก่ สุกร รวมกับการปลูกพืช การปลูกโกโก้แซมในสวนมะพร้าว การเลี้ยงปลาในร่องสวนไม้ผลหรือสวนผัก หรืออาจจะมีการเกื้อกูลกันระหว่างกิจกรรมการผลิต โดยนำเศษเหลือของกิจกรรมหนึ่งไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับอีกกิจกรรมหนึ่งเช่น เศษพืชผักเป็นอาหารสุกร มูลสุกรเป็นอาหารปลาน้ำจากบ่อปลานำไปรดพืชผัก เป็นต้นลักษณะการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างเช่นนี้เกษตรกรจะมีรายได้จากผลผลิตหลาย ๆ อย่าง มีการกระจายการใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งปี มีความรักและผูกพันกับไร่นา มีความภาคภูมิใจในผลงานและผลผลิตของตนเอง ไม่อยากทิ้งไร่นาไปที่อื่น เกษตรกรมีรายได้ตลอดปีและลดค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้ออาหารเช่น ผัก ผลไม้ และแหล่งอาหารโปรตีนเช่น ปลา ไก่ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการทำไร่นาสวนผสม
1.เพื่อเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกรอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมการปลูกพืชหลายครั้งหลายชนิด หรือจากการผสมผสานกิจกรรมทั้งพืช สัตว์ ประมง
2. เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรที่ดินทุน แรงงาน อย่างประสิทธิภาพ
3.เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินกิจกรรมการเกษตรจากภัยธรรมชาติและความผันผวนของราคาผลผลิตเพื่อให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจเลือกกิจกรรมการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
4.เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพตามวิชาการเกษตรแผนใหม่ทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย โดยยึดหลักปรับปรุงคุณภาพผลผลิตลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย มีรายได้ต่อเนื่องและกำไรสูงสุด
5.เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักวางแผนและงบประมาณการผลิตรวมทั้งจดบันทึกและทำบัญชีไร่นา

ทำไมถึงต้องมีการทำไร่นาสวนผสม
1. เพื่อเพิ่มระดับรายได้ และมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี
รายได้รายวัน ได้แก่ กิจกรรมพืชผัก ( ผักกินใบ ผักบุ้ง ผักกระเฉด ตะไคร้ ขิง ข่า กระเพรา
เป็นต้น ) กิจกรรมสัตว์ ( ไก่ และเป็ดไข่ และการเลี้ยงโคนม )
รายได้รายสัปดาห์ ได้แก่ ไม้ดอกไม้ประดับ ผักบางชนิด ( ชะอม กระถิน ผักกินใบ )
รายได้รายเดือน หรือตามฤดูกาลผลิต 2 – 4 เดือน กิจกรรมการปลูกพืชผัก ทำนา ทำไร่ การเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ เป็ด และสุกร ตลอดจนการเลี้ยงปลาและกบ
รายได้รายปี เป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่เป็นไม้ผลและไม้ยืนต้นพืชไร่อายุยาว ( สับปะรด
มันสำปะหลัง ) การเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ( โคเนื้อ สุกรขุน )
2. เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และการตลาดที่แปรปรวน
เนื่องจากกิจกรรมด้านไร่นาสวนผสมมีความหลากหลายของกิจกรรมการเกษตรจึงทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพ อายุการเก็บเกี่ยวและผลผลิตที่ออกจำหน่ายมีความแตกต่างกันและสามารถช่วยลดการระบาดของโรคและศัตรูพืชลงได้ตลอดจนในบางครั้งราคาผลผลิตบางชนิดตกต่ำแต่บางชนิดราคาสูงหรือให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
3. เพื่อลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกให้น้อยลงโดยพึ่งพาทรัพยากรในไร่นามากขึ้น
ในระบบการผลิตไร่นาสวนผสมมีความหลากหลายกิจกรรมการเกษตรสามารถหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรในไร่นา หรือกิจกรรมการเกษตรในไร่นาได้มากขึ้นเช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด มูลสัตว์เป็นอาหารปลา ก๊าซชีวภาพ การใช้ปัจจัยการผลิตบางชนิดร่วมกัน เช่น ด้านแรงงานการดูแลรักษา ด้านเครื่องมืออุปกรณ์การผลิตด้านปุ๋ยและธาตุอาหารเสริม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อทดแทนการใช้ปัจจัยการผลิตภายนอกที่มากและเกินขอบเขต ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระบบการผลิต
4. กิจกรรมหลากหลายมีทั้งกิจกรรมเพิ่มรายได้ มีอาหารไว้บริโภคและ
ใช้สอยในครัวเรือน
กิจกรรมการเกษตรในไร่นาสวนผสมอาจจะมีทั้งพืช สัตว์ และประมงหรืออาจจะมีพืชกับสัตว์ หรือกลุ่มของพืชอายุสั้นกับอายุยาวขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ และวัตถุประสงค์ของเกษตรกร สำหรับกลุ่มกิจกรรม สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
4.1 กลุ่มกิจกรรมเพิ่มรายได้ ( เน้นด้านเศรษฐกิจ ) ได้แก่ ไม้ผลพืชผักเศรษฐกิจ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชไร่เศรษฐกิจ ( ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียวเป็นต้น ) ข้าวมีคุณภาพดี เช่น ข้าวขาวมะลิ 105 ข้าวญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้มีสัตว์บกและสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ( โคนม สุกร ไก่ไข่ ไก่เนื้อ กบ นกกระทา ปลาดุกปลาสลิด ปลากะพงขาวในกระชัง )
4.2 กลุ่มกิจกรรมด้านอาหาร ได้แก่ กิจกรรมข้าวนาปี พืชอาหารสัตว์บางชนิด ( ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ) พืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ไม้ผลไม้ยืนต้นบางชนิด ( กล้วย มะละกอ มะพร้าว ไผ่ตง เป็นต้น ) การเลี้ยงปลาน้ำจืดในสระน้ำขนาดเล็กในไร่นาปลาไน ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาช่อน และปลาดุก นอกจากนี้สัตว์ปีกโดยเฉพาะไก่เนื้อ ไก่พันธุ์พื้นเมือง ไก่ไข่ และเป็ดไข่
4.3 กิจกรรมด้านการใช้สอย เช่น การปลูกไผ่รวก ไผ่สีสุก สะเดาเทียมกระถินณรงค์กล้วย ( ใบตอง ) เป็นต้น
4.4 กิจกรรมอื่นๆ ตามความเหมาะสมหรือตามจุดประสงค์ของระบบการผลิต เช่น การปลูกพืชแนวกันลม ได้แก่ กระถิน ยูคาลิปตัส สะเดาเทียม ไผ่ต่าง ๆ
5. ในระยะยาว สร้างความสมดุลทางธรรมชาติทำให้สภาพแวดล้อม
ทางระบบนิเวศของไร่นาและชุมชนเกษตรดีขึ้น
เนื่องจากในระบบการผลิตรูปแบบไร่นาสวนผสมของประเทศไทยเกษตรกรนิยมปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ในระบบการผลิตควบคู่กับการทำนาและเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นกิจกรรมการเกษตรที่สร้างโอกาสด้านการตลาดแก่เกษตรกรดังนั้น การมีไม้ผลไม้ยืนต้น เป็นการสร้างความร่มรื่น รักษาความชื้นในระบบการผลิตของไร่นา การใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุการเกษตร โดยการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรในไร่นาและพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกน้อยลงจะทำให้ระบบนิเวศเกษตรดีขึ้น

ปัจจัยที่สำคัญในการทำไร่นาสวนผสม
1. ที่ดิน
เกษตรกรควรมีที่ดินเป็นของตนเองมากกว่าการเช่าเพราะการทำไร่นาสวนผสมมีการปลูกไม้ผล ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิตความอุดมสมบูรณ์ของดินก็มีส่วนสำคัญในการเลือกกิจกรรม แต่ความอุดมสมบูรณ์ของดินสามารถปรับปรุงได้
2. แรงงาน
เกษตรกรควรใช้แรงงานในครอบครัวอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพเช่นการกระจายการใช้แรงงานตลอดปี การใช้แรงงานให้เหมาะสมกับวิทยาการแผนใหม่และวิทยาการพื้นบ้านให้ผสมกลมกลืนกันไปการใช้แรงงานผสมผสานหรือทดแทนกันระหว่างแรงงานคน แรงงานสัตว์ และเครื่องทุ่นแรง
3. ทุน
เกษตรกรต้องมีการใช้ทุนในรูปแบบของเงินสดโดยการซื้อปัจจัยการผลิตเท่าที่จำเป็นซึ่งเป็นการเริ่มต้นจากเล็กไปหาใหญ่ มีการหมุนเวียนการใช้ปัจจัยการผลิตจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
4. การจัดการ
เกษตรกรต้องมีลักษณะการเป็นผู้จัดการมีหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินใจในระบบการผลิตในไร่นาเช่น จะผลิตอะไร พืชหรือสัตว์หรือประมง จะผลิตที่ไหน จะผลิตโดยวิธีใด (ผลิตอย่างไรจะผลิตจำนวนเท่าไร จะผลิตเมื่อไร จะผลิต(ซื้อและขายกับใครที่ไหน และ หมั่นค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ ติดตามความเคลื่อนไหวของภาวะตลาดและราคาเพื่อลดความเสี่ยงถ้าเกษตรกรมีการวางแผนและงบประมาณอย่างดีจะก่อให้เกิดผลตอบแทน กำไรสูงสุด

การพิจารณารูปแบบการทำไร่นาสวนผสม
ด้านพื้นที่
1.เกษตรกรแบ่งพื้นที่บางส่วนมาจัดทำไร่นาสวนผสมซึ่งในระยะแรกรายได้ที่เกิดจากการทำไร่นาสวนผสม ยังมีรายได้ไม่มากนัก จะมีรายได้จากบางส่วนของกิจกรรมเท่านั้น เช่น พืชผัก พืชไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ สัตว์และประมง
2. ในกรณีสภาพพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่ทำนาเดิม หากเกษตรกรคิดจะปลูกไม้ผลควรที่จะยกร่องไม้ผลและมีคันดินล้อมรอบแปลงไม้ผล เนื่องจากในฤดูฝนจะมีน้ำมาก อาจจะท่วมแปลงทำให้เกิดความเสียหายได้
3.ในกรณีสภาพพื้นที่ค่อนข้างลุ่มมากมีน้ำท่วมเป็นประจำเกษตรกรอาจจะขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลาหรือทำนาบัว นาผักบุ้ง นาผักกระเฉด เป็นต้น
4. สำหรับพื้นที่ดอนในการทำสวนไม้ผลควรมีสภาพพื้นที่มีความลาดชันไม่เกิน 30% สภาพดินมีหน้าดินลึกกว่า 1 เมตร และดินชั้นล่างต้องไม่เป็นดินดานแข็งหรือศิลาแลง
5. ในกรณีที่สภาพดินที่มีปัญหา เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยวและดินที่มีปัญหาอื่นๆ ควรดำเนินการปรับปรุงดินเหล่านี้เสียก่อน โดยวิธีการทางวิชาการ เช่น การเพิ่มวัสดุลงไปในดิน ( ปูนขาว ปูนมาร์ล แกลบ เป็นต้น ) การใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก การทำปุ๋ยพืชสดการปลูกพืชหมุนเวียนบำรุงดิน เป็นต้น
ด้านแหล่งน้ำ
1. ควรมีสระน้ำ คูคลอง ร่องน้ำ หรือแหล่งน้ำ ระดับไร่นาเสริมในฤดูแล้งประมาณ 30% ของพื้นที่ โดยประมาณการไว้ว่าพื้นที่การเกษตร 1 ไร่ มีความต้องการน้ำ1,000 ลูกบาศก์เมตร เช่น พื้นที่การเกษตร 10 ไร่ ควรมีแหล่งน้ำซึ่งสามารถมีความจุของนํ้าประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร
2. บ่อน้ำบาดาล เพื่อใช้ในฤดูแล้งโดยเฉพาะพืชไร่ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ
3.บ่อปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนและเพิ่มรายได้ ในฤดูแล้งสามารถอาศัยน้ำในบ่อใช้กับพืชบริเวณขอบบ่อปลา พืชผักสวนครัว เป็นต้น
4. อาศัยน้ำชลประทาน การสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
ด้านเงินทุน
1. งบประมาณการลงทุนในการทำไร่นาสวนผสมในระยะแรกจะมีค่าลงทุนค่อนข้างสูง เช่น การปรับสภาพพื้นที่ปลูกพืชการขุดบ่อปลาเพื่อสร้างแหล่งน้ำการสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์การเกษตร ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ ของการผลิตกิจกรรม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนกิจกรรมจะเริ่มให้ผลผลิต )ดังนั้นควรพิจารณากิจกรรมเสริมให้ผลเร็วในช่วงแรก ๆ เพื่อที่จะนำรายได้มาเพื่อการดำรงชีพและดำเนินการผลิต
2. งบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผลิตไร่นาสวนผสมต้องพิจารณาถึงชนิดและจำนวนกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณเงินทุนที่มีอยู่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายด้านพันธุ์พืช/สัตว์ ค่าปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ ค่าสารเคมีค่าแรงงานจ้างและอื่นๆ ซึ่งจะต้องหมุนเวียนเกิดขึ้นในฟาร์มอยู่ตลอดเวลาในช่วงการผลิตนั้น ๆ
3. ในกรณีที่เกษตรกรกู้ยืมเงินจากแหล่งสถาบันการเงินควรตระหนักถึงการวางแผนการใช้จ่ายเงินและผลตอบแทนในลักษณะกระแสเงินสดของฟาร์ม(รายได้รายจ่ายในแต่ละเดือนหรือแต่ละปี )
3.1 พิจารณารายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงและเวลาชนิดกิจกรรมในด้านงบเงินค่าลงทุนและเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผลิต
3.2 พิจารณาผลตอบแทน ( รายได้ ) จากกิจกรรมแต่ละชนิดและแต่ละช่วงเวลาให้เกิดรายได้สูงกว่ารายจ่ายและเพียงพอต่อการดำรงชีพและการผลิต
3.3 การชำระเงินคืนแก่สถาบันการเงินว่า ควรจะเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยเท่าไหร่นั้น ควรพิจารณาเงินทุนที่เกษตรกรจะต้องใช้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น
เงินทุนสำหรับเพื่อการดำรงชีพในรัวเรือนทั้งด้านอุปโภคและบริโภค
เงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ด้านสังคม ด้านการศึกษา
ด้านศาสนา ด้านบันเทิง
เงินทุนสำหรับด้านการลงทุนในการผลิตกิจกรรมต่อไป
เงินทุนสำหรับด้านประกันสังคมการดำรงชีพ กล่าวคือ ความเสี่ยง
ทั้งด้านการดำรงชีพและด้านการผลิต
เงินทุนสำรอง หรือเก็บออมเพื่ออนาคต
อื่น ๆ
ด้านเกษตรกร
1.เกษตรกรควรเป็นคนขยันขันแข็ง กระตือรือร้น และมีความคิดสร้างสรรค์ ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ มีแนวความคิดเชิงธุรกิจ(นักฉวยโอกาส) ติดตามความเคลื่อนไหว ด้านราคา ชนิดผลิตผลการเกษตรและการตลาดอยู่ตลอดเวลา
2.มีแรงงานครอบครัวสำหรับทำการเกษตรอย่างน้อย 3 คน ต่อพื้นที่ไร่นาสวนผสม 10 ไร่
3.เกษตรกรควรมีความรู้ความสามารถ และทักษะในการวางแผนและการจัดการด้านทรัพยากรด้านแรงงาน ด้านเวลา และกิจกรรมการผลิตได้เป็นอย่างดีเป็นต้น
ด้านกิจกรรมการผลิต
1. ในการผลิตทางการเกษตรควรพิจารณากิจกรรมการเกษตร ( พืช สัตว์ ประมง ) ในเชิงกิจกรรม
1.1 กิจกรรมที่ทำรายได้ ( ด้านเศรษฐกิจ ) เช่น ไม้ผล พืชผักเศรษฐกิจ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชไร่ สัตว์และประมง
1.2กิจกรรมด้านอาหารเช่น ข้าว พืชไร่ พืชผักสวนครัว พืชผักสมุนไพรไม้ผลบางชนิดมะพร้าว กล้วย มะละกอ ไผ่ตง ) การเลี้ยงปลา และการลี้ยงสัตว์ปีก เป็นต้น
1.3 กิจกรรมด้านใช้สอย เช่น ไผ่รวก ไผ่สีสุก สะเดาเทียม กระถินเทพา ยูคาลิปตัส สัก
เป็นต้น
1.4 กิจกรรมด้านอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละฟาร์ม แต่ละพื้นที่
2. กรณีปลูกไม้ผลในช่วงระยะ 1 – 3 ปีแรก ยังไม่ให้ผลผลิตและรายได้เกษตรกรควรปลูกพืชแซมระหว่างแถวในสวนไม้ผล เช่น พืชผัก พืชไร่ ไม้ดอกไม้ประดับหรือไม้ผลบางชนิด เช่น มะละกอ กล้วย เป็นต้น
3.กรณีแปลงไม้ผลที่พื้นที่ลุ่มจะต้องจัดทำคันดินล้อมรอบแปลงไม้ผลพื้นที่บริเวณดังกล่าวสามารถปลูกมะพร้าวอ่อน กล้วย มะละกอ ไผ่ตง พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับเป็นต้น
4. การปลูกไม้ผลบางครั้งสามารถปลูกแบบผสมผสานกันได้ในแปลงเดียวกันเช่น มะม่วงกับขนุน กระท้อนกับส้มโอ หรือพืชผัก เช่น มะเขือ พริก แตงกวา ถั่วฝักยาวเป็นต้น
5.เกษตรกรควรมีพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับปรับเปลี่ยนหรือหมุนเวียนเพื่อทำรายได้ ซึ่งเราอาจจะเรียกได้ว่าพื้นที่ทำเงิน หรือพื้นที่ฉกฉวยโอกาส ในการปลูกพืชผักเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ กิจกรรมปลูกพืชไร่กิจกรรมเหล่านี้ควรเป็นกิจกรรมอายุสั้นให้ผลตอบแทนสูง
6.ในระบบการผลิตทางเกษตรที่เกิดขึ้นจริงในไร่นาของเกษตรกร เกษตรกรจะมีพื้นที่ผลิตข้าวไว้บริโภคและจำหน่ายบางส่วนถึงแม้ว่าจะมีกิจกรรมอื่น ๆ ก็ตามนอกจากนี้กิจกรรมหนึ่งที่ควรได้รับการพิจารณา คือเลี้ยงปลาในนาข้าว จุดประสงค์เพื่อเสริมรายได้และมีแหล่งอาหารโปรตีนไว้บริโภค สภาพพื้นที่ที่จะทำการผลิตควรควบคุมระดับน้ำได้และอยู่ใกล้บ้าน
7.บ่อปลาที่จะประกอบเป็นกิจกรรมหนึ่งในไร่นาสวนผสมควรอยู่ใกล้บ้านการคมนาคมสะดวกสามารถจัดการเรื่องน้ำได้ ลักษณะดินควรเป็นดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย และสามารถเก็บกักน้ำได้อย่างน้อย 6 – 8 เดือน
8.กิจกรรมด้านการผลิตพืชผักและไม้ดอกไม้ประดับตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และประมงกิจกรรมเหล่านี้ค่อนข้างจะอาศัยแรงงานมาก และการดูแลเป็นพิเศษจะทำ การผลิตมากไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านแรงงาน การเน่าเสีย การตลาดการเจริญเติบโตถึงขีดจำกัดแต่ยังคงต้องมีค่าใช้จ่ายในการผลิต เช่น ค่าอาหาร ค่ายาเคมีและค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น ดังนั้น ควรมีการวางแผนการผลิตและการตลาดเป็นอย่างดีโดยทำการผลิตเป็นรุ่น ๆ
ด้านรายได้
1.ควรพิจารณาจากกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมีรายได้หลายทางจากพืชสัตว์และประมง ในลักษณะรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี เป็นต้น
2.พิจารณาว่ากิจกรรมใดควรเป็นรายได้หลัก รายได้รองและรายได้เสริมจากกิจกรรมที่ต้องการผลิตภายในฟาร์ม
3.กิจกรรมที่ให้ผลตอบแทน รายได้ ) ในระยะยาวในช่วงแรกยังไม่มีผลผลิตหรือรายได้ ควรมีกิจกรรมเสริม เพื่อให้เกิดรายได้ในช่วงแรก ๆ
4.ควรพิจารณารายได้ที่เกิดขึ้นจากการปลูกพืชหมุนเวียนและกิจกรรมที่จัดสรรโดยการทยอยปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เป็นรุ่น ๆ
5.ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงของกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดรายได้โดยจะต้องเสี่ยงกับภาวะความแปรปรวนของราคาผลิตผลการตลาดและภัยธรรมชาติ
6.พิจารณาด้านรายได้ของกิจกรรมที่ให้ผลตอบแทนเร็วในช่วงสั้นๆของการผลิต และให้รายได้สูง หรือพิจารณาด้านรายได้ระยะยาวที่มั่นคงหรือรายได้ที่ไม่มีความแปรปรวนมากนักเช่น การเลี้ยงปลา ทั้งนี้ ควรผสมผสานกันและดูความต้องการของเกษตรกรเป็นหลักด้วยในการพิจารณา
ด้านอื่นๆ
1.บริเวณร่องสวนไม้ผล กรณียกร่องแปลงไม้ผล ร่องน้ำสามารถเลี้ยงปลาได้แต่ควรระมัดระวังการใช้สารเคมี ที่มีอันตรายต่อการเลี้ยงปลาในร่องสวนไม้ผล
2.การผสมผสานการเลี้ยงสัตว์กับประมง เช่น การเลี้ยงสุกรไก่และเป็ดบนบ่อปลา มูลสัตว์ สามารถเป็นอาหารปลาได้ และสร้างระบบนิเวศเกษตรในบ่อปลาเกิดอาหารธรรมชาติต่อการเลี้ยงปลาได้ทำให้ลดต้นทุนการผลิต
3. การเลี้ยงสัตว์ในไร่นาสวนผสม มูลสัตว์สามารถทำเป็นปุ๋ยคอก นำไปใส่ในแปลงพืชผักไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผล เป็นการลดต้นทุนการผลิตและบำรุงโครงสร้างดินได้เป็นอย่างดี
4.น้ำจากบ่อปลาสามารถนำไปรดพืชผักขอบบ่อปลา พืชผักสวนครัวบางครั้งสามารถระบายสู่พื้นที่นาได้ในขณะเดียวกันพืชผักบางชนิดสามารถเป็นอาหารปลาได้ เช่น รำข้าว ข้าวโพด กล้วย มะละกอผักบุ้ง เป็นต้น นอกจากนี้เศษวัสดุการเกษตรยังเป็นอาหารเสริมของปลาได้ด้วย
5.ควรพิจารณาระบบการปลูกพืชและระบบการทำฟาร์มในเชิงวิชาการเข้าสู่รูปแบบไร่นาสวนผสมด้วย

การปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่นามาเป็นไร่นาสวนผสม
สภาพพื้นที่ดอน)
เหตุผล
1.สภาพบางพื้นที่เหมาะสมต่อการทำไร่นาสวนผสม และให้ผลตอบแทนดีกว่าการทำนาหรือทำไร่เพียงอย่างเดียว
2. รายได้หลักจากอาชีพทำนาทำไร่หรือกิจกรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอ
3.การผลิตกิจกรรมการเกษตรเพียงชนิดเดียวทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการผลิตเนื่องจากราคาผลิตผลแปรปรวนและเกิดภัยธรรมชาติ
4. รายได้จากการทำไร่นาสวนผสมดีกว่าการทำนา ทำไร่ และสามารถมีรายได้ต่อเนื่อง ในลักษณะรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี จากกิจกรรมที่หลากหลาย
5. มีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกื้อกูลกันในระดับฟาร์ม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
6. เป็นแหล่งอาหารและใช้สอยในครัวเรือน
7. เป็นการสร้างระบบนิเวศเกษตรภายในฟาร์มและชุมชน เพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ
ข้อควรพิจารณา
1. แบ่งพื้นที่เพื่อการทำไร่นาสวนผสมในระยะแรกประมาณ 5 – 10 ไร่
2. หากสภาพพื้นที่ดอนให้ไถปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ และจัดการพื้นที่ให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำไร่นาสวนผสมตามเงื่อนไขของกิจกรรมแต่ละชนิด
3. เกษตรกรมีพื้นที่เป็นของตนเอง
4. มีแหล่งน้ำและปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์
5. แรงงานครัวเรือนอย่างน้อย 3 คน
6. เกษตรกรเป็นคนขยันขันแข็งและมีความสนใจในกิจกรรมของไร่นาสวนผสม
7. ปลูกพืชแซมในไม้ผล ไม้ยืนต้นและพื้นที่ขอบบ่อปลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
8. พื้นที่บ่อปลาและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ควรอยู่ใกล้บ้านและสะดวกต่อการถ่ายเทน้ำและของเสีย
9. พื้นที่บ่อปลาควรเก็บกักน้ำได้ประมาณ 6 – 8 เดือน ลักษณะดินควรเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย
10. ค่าใช้จ่ายในการลงทุนสร้างโรงเรือนและขุดบ่อปลาโดยเฉลี่ยสามารถใช้ได้ 3 – 5 ปี จึงจะซ่อมแซมหรือปรับปรุงใหม่
11.รายละเอียดให้พิจารณาจากทางเลือกของพืช สัตว์ และประมงแต่ละชนิดเพื่อประกอบการเลือกกิจกรรม เพื่อทำการผลิตแบบไร่นาสวนผสม
12.ชนิดของกิจกรรมในรูปแบบไร่นาสวนผสมสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ความต้องการของตลาดและความพร้อมของเกษตรกร